top of page
Writer's picturephyathai7 pet care

การขูดหินปูนสัตว์เลี้ยง : จัดการหินปูน ช่วยลดกลิ่นปาก


ขูดหินปูนสัตว์เลี้ยง
Dental tartar

หินปูน อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย เพราะปัญหาคราบหินปูนในช่องปากของน้องหมาน้องแมวนำไปสู่โรคอื่นๆ ได้ วันนี้ โรงพยาบาลสัตว์พญาไท7 มีข้อแนะนำในการจัดการปัญหา #หินปูน ในช่องปากสัตว์เลี้ยง ด้วยการขูดหินปูนสัตว์เลี้ยงมาฝากกัน

 

หินปูนในสัตว์เลี้ยงเกิดจากอะไร

ในสัตว์เลี้ยงไม่ว่าจะเป็นน้องหมาหรือน้องแมว ก็สามารถเกิดปัญหาหินปูนได้ แถมยังมีโอกาสเกิดหินปูนได้มากกว่าคนเราเสียด้วย เพราะน้ำลายของสุนัขมี pH เป็นด่าง (pH 7.5) เมื่อเทียบกับมนุษย์ (pH 6.5) จึงมีปริมาณแร่ธาตุสะสมในน้ำลายมากกว่าในคน คราบน้ำลายจะถูกสะสมไปด้วยแบคทีเรียในช่องปากจนกลายเป็นคราบพลัค (dental plaque) และเมื่อคราบพลัคนี้เจอกับแร่ธาตุในน้ำลายก็จะเกิดแข็งตัวจนกลายเป็นคราบหินปูน (dental calculus) ดังนั้นการแปรงฟันเพื่อหยุดยั้งการเกิดคราบพลัคที่จะสะสมก่อนที่จะกลายเป็นหินปูนนั้นจึงดีที่สุด เพราะคราบหินปูนนี้เองจะเป็นแหล่งสะสมแบคทีเรีย และกระตุ้นการอักเสบของเหงือก นำไปสู่โรคเหงือกได้


ปัญหาลุกลามจากคราบหินปูน

คราบหินปูนจะส่งผลให้เกิดโรคปริทันต์อักเสบ โดยจะเกิดการอักเสบที่อวัยวะรอบ ๆ ฟัน เช่น เหงือก กระดูกเบ้าฟัน เคลือบรากฟัน เป็นต้น ทำให้เกิดปัญหากลิ่นปากในสัตว์เลี้ยง เหงือกอักเสบ ฟันโยก อาจเกิดการติดเชื้อจนกลายเป็นฝีรากฟันได้


ขูดหินปูนสัตว์เลี้ยง

หากตรวจพบว่าสัตว์เลี้ยงเกิดปัญหาหินปูน คุณหมอประจำ #ศูนย์ทันตกรรม จะตรวจเพื่อประเมินการรักษาช่องปากและฟันเกี่ยวกับการขูดหินปูนสัตว์เลี้ยง ว่าสามารถทำการขูดหินปูนได้หรือต้องมีการถอนฟันร่วมด้วยหรือไม่ โดยก่อนที่จะเข้ารับการขูดหินปูนจะต้องทำการตรวจเลือดเพิ่มเติมเพื่อเช็คความพร้อมของร่างกายสัตว์เลี้ยงก่อนวางยาสลบ หากน้องอายุมากกว่า 7 ปี หรือเป็นสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจ คุณหมอจะให้ตรวจหัวใจก่อน จากนั้นจะให้งดน้ำและงดอาหารก่อนเข้ารับการขูดหินปูน 6-12 ชั่วโมง โดยโรงพยาบาลสัตว์พญาไท 7 ทำการวางยาสลบด้วยยาดมสลบ และมีวิสัญญีสัตวแพทย์คอยดูแลตลอดการวางยาสลบ คุณหมอประจำศูนย์ทันตกรรมจะขูดหินปูนทั้งในบริเวณที่มองเห็น รวมทั้งใต้เหงือก และตามซอกฟัน จนเสร็จสิ้นกระบวนการและให้สัตว์เลี้ยงฟื้นตัวจากการวางยาสลบจนพร้อมที่จะกลับบ้านได้


ดูแลดีไม่มีหินปูน

การดูแลช่องปากเป็นประจำเพื่อหยุดยั้งไม่ให้คราบพลัคก่อตัวจนกลายเป็นหินปูนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ดูแลง่ายๆ ด้วยการแปรงฟันสัตว์เลี้ยงเป็นประจำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ด้วยยาสีฟันสำหรับสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ (ไม่ควรใช้ของคน เนื่องจากยาสีฟันของคนมักผสมฟลูโอไรด์และซอร์บิทอล ที่เป็นพิษต่อสุนัข) โดยเริ่มฝึกได้ตั้งแต่สุนัขอายุ 6 เดือนเป็นต้นไป รวมทั้งนัดหมายมาตรวจฟันกับคุณหมอทุก 6 เดือน หรือตามที่คุณหมอนัดหมาย

Comments


bottom of page