ถ้าพูดถึงหนึ่งในน้องหมาสายพันธุ์ที่เป็นที่นิยมเลี้ยงในบ้านเราแน่นอนว่าต้องมีน้องชิวาวาติดอันดับด้วยแน่นอน ด้วยความตัวเล็กน่ารัก มีความกล้าหาญ จนเป็นขวัญใจของใครหลายๆ คน แต่ความน่ารักนี้ก็ยังมีเรื่องที่ให้เจ้าของอย่างเรา ๆ ต้องคอยระวังกับโรคที่พบบ่อยในชิวาวา คุณหมอฝน สพ.ญ. จุฑามาศ อุดมเกียรติกูล มาลงรายละเอียดให้แบบครบทุกระบบ รู้แล้วสังเกตอาการไว้ จะได้พาน้องมาพบคุณหมอเพื่อดูแลได้อย่างทันท่วงที
ระบบประสาท
· ภาวะโพรงสมองคั่งน้ำ (Hydrocephalus) เกิดจากการสะสมของน้ำในโพรงสมองที่ไม่สามารถระบายออกได้ตามปกติ ทำให้มีของเหลวสะสมในโพรงของสมองมากขึ้น ความผิดปกตินี้สามารถพบได้ตั้งแต่เกิด แต่อาจเริ่มแสดงอาการทางระบบประสาทที่ผิดปกติเมื่อสุนัขโตขึ้น เช่น หัวกะโหลกที่ดูโตกว่าผิดปกติ ภาวะชัก หรือการเดินและทรงตัวที่ผิดปกติ การวินิจฉัยจำเป็นต้องได้รับการตรวจจากคุณหมอเฉพาะทางระบบประสาท เพื่อวางแผนการทำภาพวินิจฉัยด้วย MRI และทำการรักษาต่อไป
· ภาวะกะโหลกส่วนหน้าปิดไม่สนิท (Open fontanelle) เกิดจากการเติบโตอย่างไม่สมบูรณ์ของกะโหลกส่วนหน้าตั้งแต่ในช่วงการพัฒนาของตัวอ่อน โดยจะพบจุดนิ่ม ๆ เป็นรูขนาดเล็ก บริเวณส่วนบนของกะโหลก และจะเล็กลงเมื่ออายุมากขึ้น สุนัขที่พบภาวะนี้ สามารถพบร่วมกับภาวะโพรงสมองคั่งน้ำได้ หรืออาจไม่พบความผิดปกติทางระบบประสาทเลยก็ได้ สิ่งสำคัญคือเจ้าของสุนัขควรระมัดระวังเรื่องการกระทบกระแทกบริเวณสวนหัวเป็นพิเศษ
· ภาวะชัก (Seizure) เกิดได้จากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท และสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับระบบอื่น ๆ ในร่างกายได้เช่นกัน หากพบสุนัขแสดงอาการชักควรพามาเข้าพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจประเมินระบบประสาท และวางแผนในการทำภาพวินิจฉัยด้วย MRI เพื่อทำการรักษาที่ตรงสาเหตุ
· ภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือ หมอนรองกระดูทับไขสันหลัง (Intervertebral Disc Disease; IVDD) เกิดจากการฉีกขาด หรือการแตกของหมอนรองกระดูก ทำให้เกิดการกดทับไปยังไขสันหลัง ส่งผลให้สุนัขเกิดความเจ็บปวด พบการทำงานของขาผิดปกติ เกิดภาวะอัมพฤกษ์ ไปจนถึงอัมพาต และบางครั้งอาจมีอาการรุนแรงจนสูญเสียการรับรู้ความรู้สึกที่ขาได้ โดยความผิดปกตินั้นสามารถพบได้หลายตำแหน่งทั้งบริเวณ กระดูกสันหลังส่วนคอ ส่วนอก ส่วนเอว หรือ ส่วนเอวต่อก้นกบ สุนัขที่พบภาวะนี้ควรรีบพามาพบคุณหมอเพื่อทำการตรวจวินิจฉัย และระบุตำแหน่งของรอยโรค ก่อนที่จะทำภาพวินิจด้วย MRI และวางแผนการรักษาซึ่งแนวทางในการรักษาจะมีทั้งการรักษาทางยาและการรักษาด้วยการผ่าตัด
ระบบหมุนเวียนโลหิตและหัวใจ
· ภาวะหลอดเลือดหัวใจเกิน (Patent Ductus Ateriosus; PDA) เป็นความผิดปกติที่พบตั้งแต่กำเนิด ที่เกิดจากหลอดเลือด Ductus arteriosus ซึ่งเชื่อมต่อระหว่างหลอดเลือดแดงใหญ่ (Aorta) กับหลอดเลือดแดงหลักที่นำเลือดจากหัวใจไปที่ปอด (Pulmonary artery) ไม่ปิดลงหลังลูกสุนัขคลอดออกมา เป็นผลทำให้เลือดที่ส่งไปเลี้ยงทั่วร่างกายมีปริมาณของออกซิเจนลดลง หัวใจต้องบีบตัวทำงานหนักขึ้น เพื่อให้มีปริมาณออกซิเจนเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ลูกสุนัขจะแสดงอาการของโรคหัวใจตั้งแต่อายุน้อยกว่า 1 ปี โดยพบอาการของโรคหัวใจเกิด ได้แก่ ได้ยินเสียงฟู่ของหัวใจดังแบบต่อเนื่องคล้ายเสียงเครื่องจักร หัวใจเต้นผิดจังหวะ การเจริญเติบโตช้า หายใจเร็ว หายใจลำบาก ไอ อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ไปจนถึงการมีภาวะปอดบวมน้ำ หัวใจห้องซ้ายล้มเหลว เป็นผลทำให้ลูกสุนัขเสียชีวิตได้ หากสังเกตพบความผิดปกติและตรวจพบตั้งแต่สุนัขยังเด็ก ควรเข้าทำการวางแผนการตรวจและรักษาด้วยการผ่าตัด
· โรคลิ้นหัวใจไมทรัลเสื่อม (Degenerative Mitral Valve Disease) เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมของลิ้นหัวใจไมทรัล โดยมักพบในสุนัขที่มีอายุมากกกว่า 7 ปีขึ้นไป โดยลิ้นหัวใจไมทรัลที่เป็นลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหัวใจห้องบนซ้ายและล่างซ้าย ทำหน้าที่กั้นไม่ให้เลือดไหลย้อนจากหัวใจห้องล่างซ้ายกลับเข้าสู่หัวใจห้องบนซ้ายขณะที่หัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัว เมื่อลิ้นหัวใจไมทรัลเกิดการเสื่อม จะพบว่าลิ้นหัวใจจะหนาตัวขึ้น ทำให้ลิ้นหัวใจปิดไม่สนิท เกิดเป็นภาวะลิ้นหัวใจรั่ว ส่งผลให้เลือดมีการไหลย้อนจากหัวใจห้องล่างซ้าย เข้าสู่หัวใจห้องบนซ้าย เป็นเหตุให้หัวใจห้องบนซ้ายเกิดการขยายตัวมากขึ้น เมื่อลิ้นหัวใจเกิดความเสื่อมมากขึ้น ภาวะลิ้นหัวใจรั่วก็เกิดมากขึ้น จนนำไปสู่ภาวะหัวใจโต หากไม่ได้ทำการรักษาจะนำไปสู่ภาวะหัวใจล้มเหลวได้ในที่สุด โดยอาการแรกเริ่มที่มักตรวจพบได้คือเสียงหัวใจที่ผิดปกติ เป็นเสียงฟู่จากการเกิดภาวะลิ้นหัวใจรั่ว เมื่อหัวใจบีบตัว รวมถึงการถ่ายภาพ x- ray พบว่าเงาของหัวใจจะใหญ่กว่าปกติ และการตรวจเจอจากการตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้องความถี่สูง หรือ Echocardiography
ระบบทางเดินหายใจ
· ภาวะหลอดลมตีบ (Tracheal Collapse) เกิดจากหลอดลมมีการยุบตัวลง เป็นสาเหตุให้สุนัขมีอาการทางระบบหายใจ เช่น ไอแห้ง (เสียงไอแห้งผิดปกติคล้ายเสียงห่าน) หายใจมีเสียงหวีดผิดปกติ หายใจหอบถี่ ในบางรายที่มีอาการรุนแรงอาจพบสีของเยื่อเมือกหรือลิ้นเปลี่ยนจากสีชมพูเป็นสีม่วงเนื่องจากภาวะขาดออกซิเจน และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ สำหรับการวินิจฉัย นอกจากการตรวจร่างกายแล้ว การถ่ายภาพ x-ray ก็เป็นส่วนสำคัญในการวินิจฉัย และหากพบสุนัขไปผิดปกติควรพาสุนัขเข้ามาตรวจ เพื่อทำการวินิจฉัยแยกกับโรคหัวใจที่ทำให้สุนัขเกิดอาการไอได้เช่นเดียวกัน การรักษาทำได้โดยเริ่มจากการรักษาทางยา และการดูแลจัดการเช่น การควบคุมน้ำหนัก หากไม่ตอบสนองต่อการรักษาทางยา จะพิจารณาใช้การรักษาด้วยการผ่าตัด
ระบบกระดูก เอ็น และข้อต่อ
· โรคกระดูกสะบ้าเคลื่อน (Patellar Luxation) เป็นภาวะที่กระดูกลูกสะบ้าเคลื่อนออกจากร่องกระดูกบริเวณหัวเข่า ทำให้สุนัขมีอาการเจ็บปวด ท่าทางเดินผิดปกติ เดินยกขา ไม่สามารถเหยียดข้อขาได้ ไม่ลงน้ำหนักเท้า ในรายที่อาการรุนแรงอาจส่งผลต่อโครงสร้างและลักษณะของขาหลังได้ โรคนี้เป็นสาเหตุโน้มนำทำให้เกิดภาวะข้อเข่าเสื่อม และเอ็นไขว้หน้าเข่าฉีกได้ ถ้าหากเป็นหนักก็อาจมีการบิดของกระดูกขาร่วมด้วย การวินิจฉัยโรคสามารถทำได้ตั้งแต่การตรวจร่างกายด้วยการคลำตรวจบริเวณเข่าขณะสุนัขอยู่ในท่ายืน และท่านอนตะแคง ซึ่งในการตรวจร่างกายจะตรวจได้ทั้งข้อสะโพก ข้อเท้า และโครงสร้างของกระดูกส่วนอื่น ๆ ร่วมกับการถ่ายภาพ x-ray ซึ่งจะช่วยในการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น รวมทั้งเห็นโครงสร้างกระดูกส่วนอื่น ๆ ของขาหลัง เพื่อที่คุณหมอ จะวางแผนการรักษาให้เหมาะกับสุนัขต่อไปได้
Comments