top of page
Writer's pictureJoan Yong

โรคพยาธิหนอนหัวใจ



โรคพยาธิหนอนหัวใจ เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นทั้งใน #สุนัข และ #แมว ทุกสายพันธุ์ ทุกช่วงอายุ โดยโรคนี้เกิดจากพยาธิชนิด Dirofilaria immitis (พยาธิหนอนหัวใจ) โดยมี #ยุง เป็นพาหะนำโรค

 

เมื่อสุนัขและแมวถูกยุงที่ติดเชื้อกัด เชื้อพยาธิหนอนหัวใจนี้จะเข้าไปเติบโตอยู่ภายในตัวของสุนัขและแมวจนพัฒนาตัวเองกลายไปเป็นตัวเต็มวัยและย้ายไปอาศัยอยู่ในหัวใจห้องล่างขวาและเส้นเลือดแดงในปอดของสุนัขและแมว ทำให้เกิดความผิดปกติต่อการทำงานของหัวใจตามมา แม้ว่าในแมวนั้นจะติดเชื้อได้ยากกว่าในสุนัข และใช้เวลาพัฒนาเป็นตัวเต็มวัยนานกว่าในสุนัข หรือมีโอกาสไม่พัฒนาเป็นตัวเต็มวัยได้ แต่หากพบตัวเต็มวัยเพียง 1-2ตัว ก็ถือว่ามีความรุนแรง เมื่อเทียบกับขนาดหัวใจ


อาการที่พบ ได้แก่ ซึม เบื่ออาหาร อ่อนเพลียได้ง่าย โดยความรุนแรงของโรคจะขึ้นกับปริมาณพยาธิตัวแก่ที่อาศัยอยู่ในห้องหัวใจและหลอดเลือด ในสุนัขหากปริมาณพยาธิหนอนหัวใจจำนวนมากจนเกิดการอุดตันในหลอดเลือด จะส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้ โดยสุนัขจะมีอาการหายใจลำบาก ท้องโต มีน้ำในช่องท้อง หรือมีอาการบวมตาม ส่วนในแมวอาจพบอาการ อาเจียน ไอ หอบ หายใจลำบาก คล้ายหอบหืด หลอดลมอักเสบได้เช่นกัน และรุนแรงถึงเสียชีวิตได้


หากพบว่าสัตว์เลี้ยงของคุณมีอาการผิดปกติ มีโอกาสเสี่ยงต่อการสัมผัสยุง แนะนำพาน้องๆ มาเข้ารับคำปรึกษาและทำการรักษาโดยสัตวแพทย์ การตรวจวินิจฉัยโรคพยาธิหนอนหัวใจ สามารถทำการตรวจหลากหลายวิธีร่วมกัน ได้แก่ ทำการเก็บตัวอย่างจากเลือด ภาพถ่ายรังสี (X-ray) หรือ ทำอัลตร้าซาวน์หัวใจ (Echocardiography) เพื่อประเมินอาการ ความรุนแรงของโรค และทำการรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

 

แต่ทั้งนี้การป้องกันโรคพยาธิหนอนหัวใจ เป็นสิ่งที่เจ้าของสามารถทำได้เองง่ายๆ โดยควรเริ่ม ป้องกันตั้งแต่ลูกสัตว์อายุ 2 เดือน โดยรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการจดทะเบียนเพื่อป้องกันโรคดังกล่าว มีทั้งแบบรูปแบบยากิน และแบบหยอดหลัง โดยต้องได้รับการป้องกันอย่างต่อเนื่องทุก 1 เดือน หากเริ่มต้นป้องกันที่อายุมากกว่า 6 เดือยคจำเป็นต้องได้รับการตรวจเลือดก่อนได้รับยา

Comments


bottom of page